34.6 C
Bangkok

Sony a7 IV ปลดล็อกเทคโนโลยี Anti-Forgery Crypto Signature ป้องกันการปลอมแปลงรูปภาพ

Published:

Sony ประกาศปลดล็อคเทคโนโลยี ‘Anti-Forgery Crypto Signature’ ภายในตัวกล้อง ที่จะมาช่วยให้รูปภาพปลอดภัยจากการถูกปลอมแปลงและสามารถระบุแหล่งที่มาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งในขณะนี้สามารถใช้งานได้บนกล้องฟูลเฟรมมิเรอร์เลส ‘Sony a7 IV‘ โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้งานระดับองค์กร

วิธีการทำงานของเทคโนโลยีดังกล่าวจะใช้วิธีการเข้ารหัสลายเซ็นดิจิทัล (digital signatures) ในไฟล์รูปภาพ ซึ่งก็จะคล้ายกับ Content Authenticity Initiative (CAI) ของทาง Adobe ที่เปิดตัวเมื่อปี 2019 นั้นเองครับ

Sony a7 IV

สำหรับใครที่ไม่คุ้นกับ CAI ระบบนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่าง Adobe, Twitter และ New York Time โดยยังมีบริษัทสื่อและเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมแบบเปิดสำหรับปกป้องความถูกต้องและแหล่งที่มาของตัว content บริษัทรวมถึงสื่อที่เกี่ยวข้องก็มีตั้งแต่ USA Today, The Washington Post, Getty Images, Gannett, Associated Press และ BBC

CAI ทำงานโดยการเข้ารหัสลายเซ็นดิจิทัลในตัว content ทันทีที่มีการสร้างไฟล์ขึ้น ซึ่งจะมีข้อมูลประวัติการแก้ไขต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลการเผยแพร่ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์หรือโซเชียลมีเดียบันทึกไว้ด้วย

แต่สิ่งที่ Sony ทำคือการเข้ารหัสรูปภาพทันทีหลังกดชัตเตอร์ด้วย processor ภายในตัวกล้อง ทำให้เราสามารถตรวจสอบได้ว่ารูปภาพมีการถูกปลอมแปลงหรือแก้ไขรึเปล่า เมื่อมีการแก้ไขโดยไม่ได้รับอนุญาตทั้งจากการแก้ไขพิกเซลหรือดัดแปลงอื่น ๆ ตัวลายเซ็นในรูปจะถูกยกเลิกไปทันทีครับ เนื่องจาก certificate server ของลูกค้าสามารถตรวจจับการปลอมแปลงที่เกิดขึ้นได้

เทคโนโลยีนี้ยังได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงการทำหนังสือเดินทางและการตรวจสอบบัตรประจำตัว รวมถึงยังสามารถนำไปใช้กับสื่อทางการแพทย์หรือการบังคับใช้ทางกฎหมายได้อีกด้วย ยกตัวอย่างประโยชน์ในภาคประกันภัยและการก่อสร้าง คิดภาพว่ามีคนเอารูปที่ถูกปลอมแปลงไปใช้เรียกเงินประกันอะไรพวกนี้ดูสิครับ การมีเทคโนโลยีแบบนี้เข้ามาจึงตอบโจทย์มาก ๆ

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ขณะนี้เทคโนโลยีป้องกันการปลอมแปลงมีเฉพาะในกล้อง a7 IV เท่านั้นครับ ซึ่งการจะเปิดใช้ได้ก็ต้องได้รับใบอนุญาติจากทาง Sony ด้วย องค์กรไหนที่อยากใช้งานก็สามารถติดต่อกับ Sony ได้เลย แต่ตรงนี้ยังไม่มีข้อมูลนะครับว่าการจะเปิดใช้งานมีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติมรึเปล่า

ขอขอบคุณ ข้อมูล :บดินทร์ ตันวิเชียร,Content Authenticity Initiative,Content Provenance and Authenticity,Project Origin,DPReview

Related articles