อาทิตย์ที่ผ่านมา มีปรากฎการณ์สำคัญเหนือท้องฟ้ากรุงเทพมหานครค่อนข้างน่ากลัว แต่ดูเหมือนไม่ค่อยมีหน่วยงานออกมาส่งสัญญาณเตือนภัยหมอกควันพิษลอยปกคลุมกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ ๆ มาสิบกว่าวันแล้ว เดินตามท้องถนนรู้สึกได้เลยว่าแสบจมูกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
วันก่อนผู้เขียนขับรถข้ามสะพานแขวนพระราม 9 จากฝั่งธนบุรีมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ มองออกไปเส้นขอบฟ้า ภาพเมืองในหมอกปรากฎชัด อากาศขมุกขมัว กลุ่มหมอกควันสีเทาดำลอยปกคลุมไปหมด เห็นอาคารสูงราวกับอยู่ในม่านสีเทา
ปัญหาหมอกควันพิษเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ ๆนานแล้ว จากฝุ่นละอองในอากาศเกินค่ามาตรฐาน โดยมีสาเหตุหลัก ๆมาจาก ควันท่อไอเสียจากรถยนต์ การก่อสร้าง ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมมลพิษจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินทางภาคตะวันออก และในเมืองใหญ่ไม่มีต้นไม้เพียงพอช่วยในการกรองมลภาวะโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ อากาศแปรปรวนเดี๋ยวหนาวเดี๋ยวร้อน มีความกดอากาศสูงปกคลุมเลื่อนขึ้นลงหลายครั้ง ทำให้เกิดสภาพอากาศนิ่ง กระแสลมที่พัดจากอ่าวไทยไม่แรงพอให้เกิดการถ่ายเทอากาศ มลพิษทางอากาศจึงเกิดการสะสมตัวในปริมาณมาก ระดับ PM2.5 จึงสูงขึ้นผิดปกติในช่วงนี้ เป็นอันตรายต่อสุขภาพคนทั่วไป
PM ย่อมาจาก “particulate matter” คือฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว ขนาดไม่เกิน2.5 ไมครอน เล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ เล็กมากจนขนจมูก หรือหน้ากากอนามัยสีเขียวทั่วไป ไม่สามารถกรองละอองพิษได้ จึงสามารถหลุดเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอดและกระแสเลือดโดยตรง ก่อโรคระบบทางเดินหายใจ หลอดเลือด หัวใจและมะเร็งในระยะยาว
ดัชนีคุณภาพอากาศตามมาตรฐาน ฝุ่นละออง PM 2.5 ไม่ควรจะเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรถึงจะปลอดภัย แต่หลายแห่งในกรุงเทพมหานคร ตรวจวัดPM 2.5 มีค่าสูงถึง 150 มากกว่าระดับปกติถึงสามเท่า อันตรายขนาดนี้แล้ว ดูเหมือนหน่วยราชการไทยไม่ค่อยได้ใส่ใจมากนัก นอกจากเตือนว่า ให้งดออกกำลังกายในที่แจ้ง หรือ เร่งทำความสะอาดฝุ่นบนถนน หมั่นให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรถยนต์ปล่อยควันดำ เร่งปลูกต้นไม้ ฯลฯ
แต่สถานทูตอินโดนีเซีย กลับตื่นตระหนักมากกว่า ได้ออกประกาศเตือนพลเมืองของประเทศตัวเองที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ว่าวิกฤตคุณภาพอากาศจากหมอกควันพิษรุนแรงมาก ต้องใส่หน้ากากและหลีกเลี่ยงกิจกรรมข้างนอกในจังหวัด กรุงเทพมหานคร ราชบุรี สมุทรสาคร ตาก ธนบุรี เชียงใหม่ และลำปาง อันที่จริง หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ รัฐบาลจะมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาออกมาทันที
ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเกิดเหตุการณ์หมอกควันพิษเกินระดับมาตรฐานจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน มาตรการเร่งด่วนคือ รถที่มีเลขทะเบียนลงท้ายด้วยเลขคู่ สามารถวิ่งบนถนนได้เฉพาะวันคู่ รถที่มีเลขทะเบียนรถลงท้ายด้วยเลขคี่ สามารถวิ่งบนถนนได้เฉพาะวันคี่ ยกเว้นรถโดยสารประจำทาง รถขนส่งมวลชน เป็นการลดการปล่อยควันพิษจากรถยนต์ได้ครึ่งหนึ่ง ทางการนครปารีสยังเตรียมรถจักรยาน รถพลังงานไฟฟ้าไว้ให้คนขับรถเก๋งเช่าแทนขับรถส่วนตัว แต่จำกัดความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อลดปัญหาการปล่อยควันพิษจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ในกรุงเดลี ประเทศอินเดีย เมืองที่มีหมอกควันพิษมากที่สุดในโลก รัฐบาลได้จำกัดให้รถแล่นได้วันเว้นวัน ยกเว้นรถโดยสารประจำทาง ทำให้รถหายไปจากท้องถนนได้ครึ่งหนึ่ง ขณะที่กรุงเทพมหานคร รถยนต์เก้าล้านคัน มากกว่าพื้นผิวถนนจะรองรับถึงห้าหกเท่า ทำให้หลายปีที่ผ่านมาเกิดภาวะการจราจรติดขัดมากขึ้นเรื่อย ๆ รถยิ่งติดก็ยิ่งปล่อยควันพิษออกมามากขึ้น แต่ไม่มีสัญญาณการจำกัดรถยนต์บนถนนแต่อย่างใด ไม่รวมการก่อสร้าง รถไฟฟ้าสี่ห้าโครงการพร้อมกันทั่วกรุงเทพฯ อาคารสูงที่กำลังก่อสร้างมากมาย ล้วนทำให้เกิดฝุ่นละอองปกคลุมเมืองใหญ่นี้อย่างมหาศาล ดูเหมือนรัฐบาลไม่ได้ส่งสัญญาณเตือนภัย หรือออกมาตรการเชิงรุกแต่อย่างใด ไม่มีการแจ้งเตือนอะไรให้ประชาชนเตรียมตัวระวังภัยที่มองไม่เห็นอย่างจริงจัง แม้กระทั่ง หน่วยราชการอย่าง กรมควบคุมมลพิษก็ปฏิเสธว่า ค่า PM2.5 ของ เว็บไซต์ Worldwide Air Quality ที่ใช้กันทั่วโลก รายงานค่าฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานครว่าค่าPM2.5 อยู่ที่ 150-160 สูงเกินระดับมาตรฐานคือ 50 ถึงสามเท่านั้น ไม่จริง เพราะวิธีตรวจวัดคนละอย่างกับการวัดฝุ่นของกรมควบคุมมลพิษ ที่วัดได้ว่าหมอกควันพิษในกรุงเทพฯเกินระดับมาตรฐาน เพียงเล็กน้อย
แหงนหน้ามองอากาศสลัว ๆ และอาการแสบจมูกแล้ว จะเชื่อใครดี
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ