ผลิตไฟฟ้าได้ทั้งกลางวันกลางคืน Nanoantennas แผงโซล่าเซลล์ที่เหนือจินตนาการ
แผงโซล่าเซลล์ทั่วไป
Solar Cell หรือ PV มีชื่อเรียกกันไปหลายอย่าง เช่น โซล่าเซลล์ เซลล์แสงอาทิตย์ เซลล์สุริยะ หรือเซลล์ photovoltaic ซึ่งต่างก็มีที่มาจากคำว่า Photovoltaic โดยแยกออกเป็น photo หมายถึง แสง และ volt หมายถึง แรงดันไฟฟ้า เมื่อรวมคำแล้วหมายถึง กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากการตกกระทบของแสงบนวัตถุที่มีความสามารถในการเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง แนวความคิดนี้ได้ถูกค้นพบมาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1839 แต่เซลล์แสงอาทิตย์ก็ยังไม่ถูกสร้างขึ้นมา จนกระทั่งใน ปี ค.ศ. 1954 จึงมีการประดิษฐ์เซลล์แสงอาทิตย์ และได้ถูกนำไปใช้เป็นแหล่งจ่ายพลังงานให้กับดาวเทียมในอวกาศ เมื่อ ปี ค.ศ. 1959 ดังนั้น สรุปได้ว่า
โซล่าเซลล์ คือ สิ่งประดิษฐ์ที่ทำจากสารกึ่งตัวนำ เช่น ซิลิคอน (Silicon), แกลเลี่ยม อาร์เซไนด์ (Gallium Arsenide), อินเดียม ฟอสไฟด์ (Indium Phosphide), แคดเมียม เทลเลอไรด์ (Cadmium Telluride) และคอปเปอร์ อินเดียม ไดเซเลไนด์ (Copper Indium Diselenide) เป็นต้น ซึ่งเมื่อได้รับแสงอาทิตย์โดยตรงก็จะเปลี่ยนเป็นพาหะนำไฟฟ้า และจะถูกแยกเป็นประจุไฟฟ้าบวกและลบเพื่อให้เกิดแรงดันไฟฟ้าที่ขั้วทั้งสองของเซลล์แสงอาทิตย์ เมื่อนำขั้วไฟฟ้าของเซลล์แสงอาทิตย์ต่อเข้ากับอุปกรณ์ไฟฟ้ากระแสตรง กระแสไฟฟ้าจะไหลเข้าสู่อุปกรณ์เหล่านั้น ทำให้สามารถทำงานได้
แผงโซล่าเซลล์กลางคืน
นักวิจัยในห้องปฏิบัติการแห่งชาติของรัฐไอดาโฮ ได้ประดิษฐ์คิดค้นแผงโซล่าเซลล์แบบใหม่ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้แม้พระอาทิตย์จะตกดินไปแล้ว ด้วยวัสดุที่ชื่อว่า “Nanoantennas” มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าบางเฉียบประกอบเข้ากับแผงโซล่าเซลล์ทั่วไป
หลักการทำงานคือ เจ้า Nanoantennas นี้จะมีคุณสมบัติเปลี่ยนรังสีอินฟาเรดที่แผ่ออกมาจากผืนดินในตอนกลางคืน(ซึ่งดินได้สะสมใว้ในตอนกลางวันที่ได้รับแสงแดดจากดวงอาทิตย์)ให้เป็นพลังงานไฟฟ้านั่นเอง ทำให้แผงโซล่าเซลล์ชนิดนี้สามารถผลิตไฟฟ้าต่อไปได้ แม้พระอาทิตย์จะลับขอบฟ้าไปแล้วอีกหลายชั่วโมง